จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => แนะนำ อุทยานแห่งชาติ, วนอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: Dockaturk ที่ มกราคม 01, 2016, 08:36:30 AM



หัวข้อ: อุทยานแห่งชาติออบหลวง : ธรรมชาติรังสรรค์ และประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มกราคม 01, 2016, 08:36:30 AM
แม้จะอยู่ไกล ลงไปทางใต้ และเลยจอมทองไปซักหน่อย แต่การถ่อลงมาไกลถึงเพียงนี้ ก็ถือว่าคุ้มค่าทุกนาที และมีความประทับใจติดตัวมาด้วย

ผมกำลังพูดถึงอุทยานแห่งชาติออบหลวงกันครับ

อุทยานแห่งชาติออบหลวง ครอบคลุมพื้นที่อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 100 กิโลเมตร ผมเลือกเดินทางออกจากตัวเมืองตั้งแต่ช่วงสายของวันในช่วงปลายฤดูฝน ด้วยสองล้อคู่ใจ พร้อมกับไม่ลืมที่จะพกเสื้อกันฝนติดไว้ใต้เบาะด้วย กรณีเกิดพระพิรุณหล่นลงมาเวลาต้องบิดเจ้าสองล้อ

อากาศก่อนเดินทางยังไม่แน่ไม่นอน เดายากเหมือนกับช่วงรอบเดือนของคุณสุภาพสตรี มีทั้งเมฆก้อนใหญ่บดบังแสงแดด และบางช่วงก็ปล่อยให้ต้นไม้ใบหญ้าได้อ้ารับแสงเพื่อเอาไปสังเคราะห์บ้าง ผมขับรถด้วยความเร็วพอเหมาะ เจออะไรน่าสนใจระหว่างทางก็จอดถ่ายรูป อย่างช่วงนึงที่ต้องผ่าน อ.ดอยหล่อ เป็นไร่มันสำปะหลังกว้างสุดหูสุดตา มองลิบๆ เห็นวัดพระธาตุดอยน้อย นี่ก็จอดถ่าย

ราวเที่ยงนิดๆ ถึงสี่แยกหอนาฬิกาฮอด ก็เลี้ยวขวามุ่งหน้าไปยังอุทยานเลียบเลาะไปตามลำน้ำแม่แจ่มที่ติดกับถนน มีฉากหลังเป็นภูเขา อันเป็นลุ่มน้ำ ที่ถือเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยง 5 ชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็น ไทยเหนือ กะเหรี่ยง ละว้า ม้ง และลีซอ รวมทั้งยังเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตคนภาคกลางด้วย เพราะ 40% ของปริมาณน้ำแม่ปิง และ 16% ของเจ้าพระยามาจากลุ่มน้ำแห่งนี้

ตามทางหลวงหมายเลข 108 ช่วงที่เลาะไปตามลำน้ำแม่แจ่ม ถือเป็นถนนอีกเส้นทางที่สวยงามด้วยความเป็นธรรมชาติของแม่น้ำ และภูเขา ไหนจะทั้งรถราที่วิ่ง ก็ไม่ได้เยอะพลุกพล่าน ถือเป็นความประทับใจในระหว่างการเดินทางที่น่าจดจำเก็บเข้ากรุในสมอง

บ่ายโมงตรงพอดี ที่บิดมอเตอร์ไซค์มาถึงอุทยานแห่งชาติออบหลวง ใช้เวลาจากตัวเมืองเชียงใหม่ก็ราวๆ สองชั่วโมงด้วยกัน ก่อนเข้าก็ต้องมีควักตังค์เสียค่าธรรมเนียมนิดหน่อย แล้วก็ขับต่อลึกเข้าไปด้านในตรงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่ตรงนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ค่อยให้ข้อมูลต่างๆ รวมทั้งด้านในยังมีพิพิธภัณฑ์ความรู้หย่อมๆ ให้ชมก่อนเข้าไปเดินเที่ยวในตัวอุทยานด้วย หรือใครเดินเที่ยวแล้ว ค่อยแวะมาชม อันนี้ก็ได้เช่นกัน

ผมหยิบแผ่นพับและสอบถามข้อมูลเล็กน้อยกับเจ้าหน้าที่ถึงเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติว่าต้องผ่านอะไร ระยะทางเท่าไหร่บ้าง รวมทั้งสถานที่บางแห่งที่อยากไป ว่า ณ สถานการณ์ล่าสุดนั้น มันเป็นยังไงบ้าง อย่างน้ำตกแม่จอน น้ำตกแม่บัวคำ ที่สอบถาม เจ้าหน้าที่ก็ให้การว่าช่วงนี้น้ำน้อย ไม่ค่อยสวย อีกอย่างน้ำตกแม่จอนถ้าจะไปต้องเดินป่าและข้ามลำห้วเยอง ที่ไม่มีสะพาน ซึ่งการไปคนเดียวถือว่าสุ่มเสี่ยงและอันตรายเป็นอย่างยิ่ง


หัวข้อ: Re: อุทยานแห่งชาติออบหลวง : ธรรมชาติรังสรรค์ และประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มกราคม 01, 2016, 08:38:49 AM
ปากทางเข้าไปยังเส้นทางศึกษาธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของอุทยานแห่งชาติออบหลวง ผายมือต้อนรับด้วยอุโมงค์ของกอไผ่ที่ปลูกไว้ข้างทางทั้งสองฝั่งให้บรรยากาศที่ร่มรื่น เส้นทางที่ผมจะเดินเที่ยวนี้จะผ่านสถานที่สำคัญดังนี้ จุดชมวิวออบหลวง - สะพานออบหลวง - หลุมฝังศพ ยุคโลหะ – หินแกรนิต - ภาพเขียนโบราณ - จุดชมวิวดอยผาช้าง – ดินโป่ง  - ตาน้ำ – จุดชมวิวผาเต่า – ป่าเต็งรัง – บ่อพักซุง โดยจนวนเป็นรอบวงกลมมาบรรจบที่ สะพานออบหลวง

ย่างก้าวแรกของการมุ่งหน้า มาถึงจุดแรกคือ จุดชมวิวออบหลวง อันเป็นช่องแคบเขาขาดที่มีหน้าผาหินขนาบลำน้ำ ทำให้เกิดหุบผาลึก ความลึกของหน้าผาวัดจากสะพานออบหลวงถึงระดับน้ำปกติประมาณ 32 เมตร ส่วนแคบสุด 2 เมตร ความยาวของช่องแคบประมาณ 300 เมตร

โดย คำว่า “อ๊อบ” หรือ “ออบ” เป็นภาษาท้องถิ่นหมายถึงช่องแคบ “หลวง” หมายถึง ใหญ่ “ออบหลวง” คือชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกช่องแคบหินขนาดยักษ์ที่มีลำน้ำแม่แจ่มบีบตัวแทรกผ่านไป อีกนัยหนึ่งคือ หุบเขา ที่มีสายธารไหลผ่าน (Canyon) ภายในออบ เสียงน้ำที่ตกไปกระทบยังแก่งหินดังสนั่นหวั่นไหวคำรามอย่างรุนแรง ให้ความรู้สึกที่เกรี้ยวกราด ส่วนลานหินและโตรกผาที่ถูกน้ำอันเชี่ยวกรากกัดกร่อนปีแล้วปีเล่า ก็ทำให้หินมีลักษณะเป็นลวดลายรูปร่างแปลกตาสวยงาม

จากจุดชมวิวออบหลวง ผ่านตัวสะพานออบหลวง จนมาถึงตรงจุดหลุมฝังศพ ยุคโลหะตอนปลาย (สำริด) ซึ่งนายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี กรมศิลปากร พบหลุมฝังศพแห่งนี้และทำการขุดค้นร่วมกับดร.มารีแอล ซังโตนิ และดร.จอง ปิแอร์ ปอโทร นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ในโครงการก่อนประวัติศาสตร์ไทยฝรั่งเศส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 มีลักษณะเป็นหลุมร่องยาวด้านหัวและท้ายมนคล้ายวงรี ขนาดยาว 2 เมตร กว้าง 0.85 เมตร ลึกประมาณ 0.4-0.5 เมตร ในหลุมมีโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิง 1 โครง สภาพไม่สมบูรณ์เหลืออยู่เพียงฟัน 32 ซี่ กระดูกแขนและขา ส่วนกะโหลกศีรษะ กระดูกส่วนลำตัวผุกร่อน และถูกน้ำเซาะพัดพาไปหมดแล้ว โครงกระดูกฝังในท่านอนหงาย แขนแนบลำตัว ที่ข้อมือซ้ายสวมกำไลสำริด 9 วง กำไลเปลือกหอยทะเล 1 วง ที่ข้อมือขวาสวมกำไลสำริด 5 วง กำไลเปลือกหอยทะเล 1 วง ที่คอสวมสร้อยลูกปัดเปลือกหอยและหินคาร์นิเลียน บริเวณขาช่วงล่างมีภาชนะดินเผาใส่ไว้ 5 ใบ ส่วนใหญ่ถูกทุบแตกและโรยไว้บนพื้นหลุมศพก่อนวางศพ และใส่ไว้ข้างๆ ศพ ตรงบริเวณกลางลำตัวพบกำไลสำริดหักและม้วนงอ 2 วง วางอยู่ ปัจจุบันโครงกระดูก ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย


หัวข้อ: Re: อุทยานแห่งชาติออบหลวง : ธรรมชาติรังสรรค์ และประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มกราคม 01, 2016, 08:41:25 AM
หลังจากหยุดชมหลุมฝังศพยุคโลหะ แล้วมุ่งหน้าต่อไปยังดอยผาช้าง ผมก็มีสมาชิกเพื่อนร่วมทางเป็นคณะอาจารย์และนักเรียนแห่งหนึ่งจาก อ.หางดง ด้วย โดยได้อาศัยเอาช่วงเวลาวันหยุดมาทัศนศึกษากัน ซึ่งบรรยากาศตอนนี้ก็ถือว่าคึกคักขึ้นมาหน่อย และไม่ค่อยหงอยเหงาเหมือนเดินคนเดียว

ผมเดินลัดเลาะค่อยๆ ขึ้นบนทางลาดชันอันเป็นจุดชมวิวของดอยผาช้าง ผ่านหินแกรนิต หินที่เป็นองค์ประกอบหลักของพื้นที่ภูเขา และหน้าผาสูงชันแถบนี้ ซึ่งได้แก่ หินแกรนิตและแกรโนไดออไรท์ สลับกับหินบะซอลท์และหินตระกูลแกรนิตชนิดมิคมาไทด์ ในชุดหินบลูโดนิค ของยุคครีเตเซียส และไทรแอสสิค ประกอบด้วยแร่ควอร์ท และเฟสต์สปาร์ ซึ่งในท้องน้ำแม่แจ่มมีเกาะแก่งหินขนาดใหญ่มากมาย ริมฝั่งลำน้ำจะมีหาดทรายที่เกิดจากน้ำพัดพามาเป็นช่วงๆหลายแห่ง มีก้อนหินกลมกรวดท้องน้ำของหินควอร์ทไซด์ ควอร์ท-แจสเปอร์ และหินชนิดอื่นๆ อยู่หนาแน่น

จากนั้นก็แอบเนียนเข้ากลุ่มไปด้วยกับเขา เพื่อชมภาพเขียนโบราณ อีกหนึ่งจุดสำคัญก่อนไปถึงดอยผาช้าง โดยตรงนี้เขาเรียกว่าผาช้าง ซึ่งเคยเป็นที่อาศัย ที่พักแรม และสถานที่ประกอบพิธีกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยยุคหินกลางประมาณ 28000 ปีมาแล้ว และมีการใช้ประโยชน์สืบเนื่องจนถึงสมัยโลหะตอนปลาย และในสมัยประวัติศาสตร์

บนผนังเพิงผาช้าง มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ได้เขียนรูปช้าง รูปคน และรูปสัญลักษณ์อื่นๆ ด้วยสีแดง แกมกำเข้มและสีขาว สันนิษฐานว่าเป็นภาพเขียนของมนุษย์สมัยหินใหม่ และสมัยโลหะที่เข้ามาประกอบพิธีกรรม ในบริเวณเพิงผานี้เมื่อราว 2500 - 3000 ปีมาแล้ว ซึ่งค่อนข้างจะสังเกตยากซักนิดนึง

นอกจากนี้บริเวณออบหลวง ทั้งสองฝั่งอำเภอจอมทอง และฝั่งอำเภอฮอด ได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก เช่น เครื่องมือหินกระเทาะแกนหินและสะเก็ดหิน ขวานหินขัด ชิ้นส่วน เครื่องประดับและภาชนะสำริด และภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ (เดี๋ยวมาเล่าแบบละเอียดอีกทีในช่วงท้ายของรีวิวทั้งหมดครับ)

เมฆฝนเริ่มก่อตัวขึ้นหน่อยๆ ให้หลังจากชมภาพเขียนโบราณเสร็จ ก็มาถึงยังอีกหนึ่งไฮไลต์ของการมาเยือนที่นี้ ซึ่งก็คือ จุดชมวิวดอยผาช้าง ที่มีลักษณะเป็นหินแกรนิตชนิดมิคมาไทด์ทั้งแท่ง ก้อนใหญ่มหึมา สีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 300 เมตร สูงประมาณ 80 เมตร จากระดับพื้นดิน มีลักษณะเหมือนช้างตัวใหญ่นอนหมอบอยู่ และเมื่อมองลงไปทางทิศใต้จะเห็นน้ำตกแม่บัวคำอยู่ลิบๆ รวมทั้งหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ที่ลดเลี้ยวเลียบเหลี่ยมเขาผ่านหน้าผาออบหลวง และลำน้ำแม่แจ่มที่ไหลคดเคี้ยวซอกซอนผาหินหายลับไปทางทิศตะวันออก


หัวข้อ: Re: อุทยานแห่งชาติออบหลวง : ธรรมชาติรังสรรค์ และประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มกราคม 01, 2016, 08:44:28 AM
ผมนั่งมองชมวิวบนดอยผาช้างราวๆ 15 นาที พร้อมคละเคล้าไปด้วยกลิ่นไอฝนที่หล่นลงมาก่อนหน้านี้นิดหน่อย ไอหมอกที่เกิดขึ้นหลังจากฝนหยุดไหลผ่านไปตามแนวเทือกเขาที่สลับซับซ้อน ก่อนที่จะค่อยๆ จางหายไปเมื่อถูกแสงอาทิตย์ขับไล่ ในช่วงที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง

ผมค่อยๆ เดินลงจากจุดชมวิวดอยช้าง เดินกลับเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติกันต่อ ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เรียกได้ว่าเดินมาถึงครึ่งทางกันแล้ว โดยด่านต่อไปนั้นคือดินโป่ง

จุดดินโป่งนี้ เป็นแหล่งดินที่มีรสเค็มและละเอียดซึ่งเกิดจากแร่ธาตุบางชนิด เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แร่ธาตุในโป่งประกอบไปด้วย โซเดียม แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส และ สังกะสี ซึ่งเป็นที่ต้องการของกระดูกและกล้ามเนื้อ แร่ธาตุเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งสัตว์สัตว์ป่าไม่สามารถหาทดแทนได้จากพืช ดังนั้นโป่งจึงเป็นแหล่งแร่ธาตุสำหรับสัตว์ป่าซึ่งกินพืชเป็นอาหาร

จากดินโป่งเดินลัดเลาะมาอีกหน่อยก็มายังตาน้ำ ตาน้ำ เกิดได้ 2 ลักษณะ คือ 1. เกิดจากการไหลของน้ำผิวดิน และ 2. เกิดจากการคายน้ำของรากต้น กลายเป็นน้ำใต้ดิน ลักษณะของการเกิดตาน้ำที่ออบหลวงนั้น เป็นลักษณะการคายน้ำของรากไม้ เมื่อมีการอิ่มตัว จะคายน้ำออกมารวมตัวกันในลักษณะของน้ำใต้ดินไหลซึมลงสู่ชั้นใต้ดิน เป็นตาน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ และถ้าจะสรุปให้เข้าใจกันง่ายๆ ตาน้ำก็คือแหล่งเก็บกักน้ำในป่าบนเขาสูง และแน่นอนว่าถ้าหาบนเขาไม่มีป่า น้ำก็จะไม่มีด้วยเช่นกัน

เดินวกอ้อมผ่านป่าออกมาถึงจุดชมวิวผาเต่า เป็นจุดชมวิวเล็กๆ ที่มองไปไกลเห็นถึงสะพานข้ามลำน้ำแจ่ม ก่อนเข้าถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติออบหลวง ซึ่งเทียบกับจุดชมวิวดอยผาช้างนั้น ที่แรกดูจะมีเสน่ห์และสวยมากกว่ากันเยอะครับ

เดินเลียบมาตามลำน้ำแม่แจ่ม เพื่อกลับไปบรรจบจุดเริ่มต้นคือตรงสะพานออบหลวง เส้นทางเดินเท้านี้ถือว่าไม่ค่อยชัดเจนนัก อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ค่อยมีคนเดิน แล้วเลือกเดินกลับทางเก่า จากจุดชมวิวผาเต่า ก็จะมีอีกหนึ่งจุดสุดท้ายสำคัญก็คือ บ่อพักซุง

บ่อพักซุง ที่เกิดจากการทำสัมปทานป่าไม้ในยุคสัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งสมัยนั้นการลำเลียงไม้สักจะใช้วิธีปล่อยท่อนซุงให้ไหลล่องลงมาตามล้ำน้ำแม่แจ่ม เมื่อซุงลอยมาถึงบริเวณออบหลวง ที่นี่นอกจากจะเป็นห้วงน้ำที่ลึกและไหลเชี่ยวแล้ว ยังเป็นวังน้ำวน จึงถูกเลือกให้เป็นปางพักไม้ของบริษัทไม้ บริติชบอร์เนียวและบอมเบย์เบอร์มา ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งรอยจารึกอันสำคัญของดินแดนออบหลวงแห่งนี้


หัวข้อ: Re: อุทยานแห่งชาติออบหลวง : ธรรมชาติรังสรรค์ และประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ มกราคม 01, 2016, 08:46:47 AM
จบจากการเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติออบหลวง ผมเลือกปิดท้ายการท่องเที่ยวครั้งนี้ด้วยการเดินชมพิพิธภัณฑ์หย่อมๆ ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก อย่างเครื่องมือหินกระเทาะแกนหินและสะเก็ดหิน ขวานหินขัด ชิ้นส่วนเครื่องประดับและภาชนะสำริด และภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ รวมทั้งเรื่องราวหมู่บ้านออบหลวง

หมู่บ้านออบหลวง เป็นชุมชนกลุ่มเกษตรที่ได้ตั้งถิ่นฐานมากว่า 3000 ปีแล้ว อยู่ตรงเนินเขาตรงที่ที่เคยเป็นที่พักอาศัยของกลุ่มนายพรานมาก่อน อยู่บนฝั่งขวาของน้ำแม่แจ่ม ตรงปากน้ำห้วยแม่บัวคำ ทำการเกษตรแต่ยังอาศัยทรัพยากรธรรมชาติจากป่าไม้และลำธารเลี้ยงชีพตนเองอยู่ พวกเขาผลิตภาชนะดินเผาทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยตนเอง แต่ของบางอย่างต้องนำเข้ามาจากที่อื่น

ทั้งนี้ ภาชนะดินเผาขึ้นรูปด้วยมือ ส่วนมากเป็นภาชนะดินเผาก้นกลม ลายเชือกทาบมีขนาดแตกต่างกัน โอ่งใส่น้ำหรือภาชนะดินเผาสำหรับทำครัวและภาชนะดินเผาที่มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อย่างอื่นเช่น โอ่งขนาดเล็กมีไหล่เป็นสัน มีลายขีดหรือไม่มี ภาชนะรูปทรงชามก้นลึกส่วนมากมีสัน ภาชะสีดำมัน ซึ่งรูปร่างและสีทำให้คิดไปถึงภาชนะที่ทำด้วยโลหะ ภาชนะดินเผาบางชิ้นมีฐานคล้ายพาน มีสันหรือไม่มี

ส่วนเครื่องมือหินที่ใช้ส่วนมากเป็นขวานหินขัด ขวานหินขัดขนาดเล็กกะเทาะมาจากหินสีดำ ขวานหินขัดพวกนี้อาจนำเข้ามาจากแหล่งผลิตอื่นที่มีวัตถุดิบ (แม่แจ่ม) ขวานหินขัดพวกนี้อาจดูมีค่าในสายตาของชาวบ้านออบหลวง พวกเขาจะฝนขวานนี้หลายครั้ง กะเทาะใหม่ และใช้แทนเครื่องมือหินขูด ขนาดของขวานจะลดลงจากการใช้งานจนเหลือนิดเดียว (พบสะเก็ดมากมายขณะทำการขุดค้น) แต่ดูเหมือนว่าขวานหินขัดพวกนี้จะไม่เคยถูกขัดอีกเลย เครื่องมือหินกระเทาะหยาบๆ ยังใช้ได้อยู่ในบางโอกาส ซึ่งได้พบหินขัดแซนด์สโตน และเศษอาวุธด้วย

สำหรับพวกเครื่องประดับ ชาวบ้านออบหลวงได้เหลือไว้ให้เป็นหลักฐานแค่เศษเครื่องประดับ เชน กำไลดินเปา กำไลทำจากเปลือกหอย กำไลทำจากงาช้าง ลูกปัดหิน หรือลูกปัด เปลือกหอย เศษภาชนะดินเผาได้ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นเหรียญสำหรับเกมส์การเล่นบางอย่าง

และที่มาเล่ามาก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่มีให้ได้ศึกษาดูในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของ อุทยานแห่งชาติออบหลวง กันครับ ใครอยากดูเพิ่ม ลองไปดูต่อได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ และค้นคว้ากันต่อเอา

ท้ายสุดและสุดท้าย อุทยานแห่งชาติออบหลวง จากการที่ได้มาสัมผัส นอกจากความงามในด้านธรรมชาติที่แปลกตาแล้ว ที่นี้ยังมีเสน่ห์ตรงที่มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในยุคโลหะให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาว่ามนุษย์ในยุคนั้นมีความเป็นอยู่อย่างไร



หัวข้อ: Re: อุทยานแห่งชาติออบหลวง : ธรรมชาติรังสรรค์ และประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เริ่มหัวข้อโดย: DDjung ที่ มกราคม 04, 2016, 10:10:36 AM
สวยจริงๆ  :onio:


หัวข้อ: Re: อุทยานแห่งชาติออบหลวง : ธรรมชาติรังสรรค์ และประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
เริ่มหัวข้อโดย: auto ที่ เมษายน 19, 2018, 09:31:49 AM
 :onio: