ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
พฤษภาคม 05, 2024, 05:47:08 PM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ  โพสหัวข้อเดียวซ้ำๆ กัน รับสิทธิ์ โดนลบกระทู้ และโชคดีได้รับสิทธิ์แบนฟรี 90 วันครับ


จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  วัดในจังหวัดเชียงใหม่  |  หัวข้อ: ย้อนกาลเวลาที่ “วัดป้านปิง” พระอารามเก่าแก่แห่งเวียงเชียงใหม่ 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ย้อนกาลเวลาที่ “วัดป้านปิง” พระอารามเก่าแก่แห่งเวียงเชียงใหม่  (อ่าน 2206 ครั้ง)
lady darika
Full Member
***
กระทู้: 232


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 26, 2014, 04:07:04 PM »


ย้อนกาลเวลาที่ “วัดป้านปิง” พระอารามเก่าแก่แห่งเวียงเชียงใหม่

บนถนนราชภาคินัย เขตเมืองเชียงใหม่เก่า มีวัดวาอารามเรียงรายอยู่หลายวัดตั้งแต่ฝั่งประตูช้างเผือก จนถึงฝั่งประตูเชียงใหม่ “วัดป้านปิง” เป็นเพียงพระอารามเล็กๆ บนถนนเส้นนี้ ดูผิวเผินก็เป็นเพียงวัดธรรมดาๆ ที่ไม่มีความสำคัญทางการท่องเที่ยวมากมายนัก หากเทียบกับวัดใหญ่แห่งอื่นๆ ในคูเมืองแล้ว นักท่องเที่ยวน้อยคนที่จะรู้จัก ขณะที่ฉันเข้าไปเยือนวัดแห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เดินเข้ามาชมภายในวัดนิดๆ หน่อย แล้วเดินจากไป นักท่องเที่ยวชาวไทยไม่ต้องพูดถึง ฉันไม่เจอเลย นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่เลดี้ ดาริกาเอง ก็ยังมองข้ามวัดนี้ไป ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว พระอารามป้านปิงแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ และมีเรื่องราวมากมายน่าสนใจ รอให้เราเข้าไปศึกษาเยี่ยมชม


“ป้าน” เป็นคำในภาษาล้านนาโบราณ แปลว่า “ขวาง” หรือการเบี่ยงทิศทาง ชื่อวัดป้านปิง จึงหมายถึงการกั้นกระแสน้ำปิงให้ไหลไปทิศทางอื่น วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานจากพระประธานภายในพระวิหาร และองค์พระเจดีย์แล้ว คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นช่วงสมัยล้านนาตอนต้น ระหว่างรัชกาลพญามังราย เรื่อยลงมาจนถึงพญาแสนเมืองมา ราว พ.ศ. ๑๘๓๙ – ๑๕๓๔ กล่าวได้ว่าเป็นพระอารามเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ทีเดียว

เจดีย์ประธานของวัด


ไม่เพียงเป็นวัดที่เก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่เท่านั้น แต่ภายในพระอารามยังคงหลงเหลือโบราณวัตถุ และโครงสร้างสถาปัตยกรรมเก่าแก่ล้ำค่าไว้ให้เราศึกษา และเยี่ยมชมอีกด้วย เมื่อเข้าไปภายในบริเวณวัด สิ่งแรกที่สะดุดตาเราคือพระเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ ๒๘ ทรงสิบสองเหลี่ยม เป็นเจดีย์แบบล้านนาฝีมือช่างหลวง บูรณะครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ว่ากันว่าเจดีย์ลักษณะเดียวกันนี้พบทั้งหมด ๓ แห่งในล้านนา อีกสองแห่งคือที่วัดลี อำเภอเมืองฯ พะเยา และวัดเบ็งสกัด อำเภอปัว จังหวัดน่าน เจดีย์องค์นี้อยู่คู่กับวัดนี้มาตั้งแต่เมื่อยุคแรกสร้าง

วิหารวัดป้านปิง เมืองเชียงใหม่


วิหารหลวงของวัด สถาปัตยกรรมล้านนา โครงสร้างหลังคาเตี้ย ตั้งอยู่บนฐานยกสูงจากพื้น ซึ่งพระเจดีย์ประฐานก็ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับพระวิหาร ด้านข้างมีมุขยื่นออกมา ใช้เป็นประตูเข้าออกสำหรับพระสงฆ์ ประตูทางเข้าหลักของวิหารประดับด้วยซุ้มโขงปูนปั้นลักษณะจีนปูนตำสูตรล้านนา เป็นลายพญานาคสองตัวหางพันกัน เหนือขนดลำตัวสองฟากเป็นภูเขาหิมพานต์ เหนือขึ้นไปมีพระอาทิตย์และพระจันทร์ สร้างขึ้นตามความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาตาหลักพระพุทธศาสนา

ลวดลายซุ้มประตูวิหาร

บานประตูไม้แกะสลักสวยงาม

ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประธานอายุเก่าแก่ มีพุทธลักษณะแบบพระพุทธรูปสิงห์หนึ่ง ซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยล้านนาตอนต้น เป็นพระประธานคู่กับวัดมาตั้งแต่ดั้งเดิม การสันนิษฐานอายุของวัด ก็สันนิษฐานจากรูปแบบของพระพุทธรูปองค์นี้ พระพุทธรูปองค์รองด้านขวา ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า เป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง สวยงามเฉกเช่นเดียวกับพระประธาน ส่วนพระพุทธรูปอันดับอีก ๔ องค์ เป็นพุทธศิลป์แบบสิงห์สามทั้งหมด คาดได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยหลัง

พระประธานภายในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปสิงห์หนึ่ง พุทธลักษณะงดงาม

ซุ้มเทวดา เป็นซุ้มขนาดเล็กก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ลักษณะคล้ายศาลพระภูมิ ตั้งอยู่ใกล้กับบันไดนาคด้านซ้าย ซุ้มนี้สร้างขึ้นตามคติล้านนาดั้งเดิม ชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าก่อนเข้าไปทำบุญในพระวิหาร จะต้องกราบไหว้เทวดาก่อน และเพื่อเป็นการถวายบุญนั้นให้เทวดาได้เช่นกัน ซุ้มเทวดาลักษณะนี้ไม่ปรากฏในการสร้างวิหารยุคหลังๆ นิยมสร้างกันมาในสมัยล้านนาตอนต้น

พระอุโบสถ


ด้านหน้าพระวิหารไม่ไกลกันนั้น เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาขนาดเล็ก สวยงาม ด้านหน้าพระอุโบสถมีศิลาจารึกที่ยังจารึกไม่เสร็จตั้งอยู่ด้วย

ดินจี่ฮ่อฐานกุฏิ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ตั้งเอาไว้ด้านข้างพระวิหาร ใต้หอระฆัง มีประมาณ ๒๐ ก้อน ขุดพบบริเวณฐานกุฏิโบราณ ช่างล้านนาโบราณนิยมใช้อิฐลักษณะนี้สร้างเป็นฐานกุฏิเจ้าอาวาส สันนิษฐานว่าช่างเอาเทคนิคนี้มาจากชาวจีนฮ่อโบราณ นอกจากที่วัดป้านปิงแล้ว ยังพบอิฐลักษณะเดียวกันที่วัดอื่นในเขตเมืองเชียงใหม่อีก ๒ วัด


หอไตร


สถานที่บางแห่งเราอาจมองว่าธรรมดา ไม่น่าสนใจ ไม่มีอะไรให้ศึกษา แต่หลายๆ ครั้งที่สถานที่ธรรมดาๆ นั้นกลายเป็นขุมทรัพย์ทางการเรียนรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่ง เหมือนที่คนโบร่ำโบราณพร่ำสอนกันมาว่า เราไม่ควรตัดสินใครจากรูปกายภายนอก วัดป้านปิงก็คือหนึ่งในนั้น ไม่ใช่ข้อยกเว้น

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา  912
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ขึ้นบน พิมพ์ 
จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  วัดในจังหวัดเชียงใหม่  |  หัวข้อ: ย้อนกาลเวลาที่ “วัดป้านปิง” พระอารามเก่าแก่แห่งเวียงเชียงใหม่ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 20 คำสั่ง