จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => แนะนำสถานทีเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่-สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: Dockaturk ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2017, 05:45:44 AM



หัวข้อ: ถนนต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน : ถนนสุดสวยแห่งเมืองเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2017, 05:45:44 AM
ถ้าให้จัดอันดับถนนในเชียงใหม่ที่สวยงาม ผมยอมกระโดดเตะเสาไฟฟ้าหน้าบ้านเป็นประกันเลยว่า ถนนต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน ต้องติดอันดับมาอย่างไม่ต้องสงสัย

เผลอๆ เป็นอันดับที่ 1 ในใจ เสียเลยด้วยซ้ำ

สองข้างทางที่มีต้นยางสูงใหญ่เรียงราย ท่ามกลางชุมชนจำนวนประมาณพันต้น บนถนนทางหลวงแผ่นดินสาย  106  เชื่อมเมืองเชียงใหม่ ที่อำเภอสารภี  กับตำบลอุโมงค์  อำเภอเมืองลำพูน กับอายุราวๆ 100 กว่าปี นี่คือถนนที่ใครหลายคนหลงรัก

ข้อมูลจาก อำเภอสารภี ระบุว่า ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนสร้างในสมัยรัชกาลที่  5  พ.ศ.  2438  โดยพระยาทรงสุรเดช  (อั้น  บุนนาค)  ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง  เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ  ถนนสายนี้เริ่มตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ  เลียบแนวแม่น้ำปิงห่างที่วัดกู่ขาว  จนถึงเมืองลำพูน  สร้างบนผนังดินธรรมชาติของแม่น้ำปิงห่าง

ต่อมาพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์  (เชยกัลยาณมิตร)  ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพคนแรก  ระหว่างปี  พ.ศ.2445 – 2458  ได้มีนโยบายท้องถิ่นที่เรียก  “น้ำต้องกองต๋ำ”  คือต้องการพัฒนาคูคลองและถนนหนทาง  จึงได้นำต้นยางนามาปลูกตลอดสองข้างทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน  พอเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก  โดย  "คาดว่า"  น่าจะปลูกเมื่อราว  พ.ศ.  2445


หัวข้อ: Re: ถนนต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน : ถนนสุดสวยแห่งเมืองเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2017, 05:46:35 AM
ในปี พ.ศ. 2449 ( ร.ศ. 124) เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ได้ปรับปรุงเส้นทางสายนี้อีกครั้งโดยให้ มิสเตอร์ โรเบิร์ต ข้าหลวงโยธาเป็นผู้ให้คำแนะนำซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ทำให้เส้นทางสายนี้สภาพดีขึ้นและมีความกว้างกว่า 3 วา เท่ากันตลอดทั้งเส้น  โดยถนนบางช่วงอยู่บนผนังดินดินธรรมชาติของปิงห่าง มีความยาวทั้งหมด27.25 กิโลเมตร ความกว้างผิวทางเฉลี่ย 5.98 เมตร โดยปลูกต้นยางในเขตเชียงใหม่ และปลูกต้นขี้เหล็กในเขตลำพูนและมีการกำหนดกฎระเบียบ ในการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเลี้ยงสัตว์บนเขตถนน และที่ทำการของราชการ

ทั้งนี้ หากสัตว์เลี้ยงของผู้ใดเหยียบย่ำต้นไม้ที่ปลูกไว้จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ถ้าต้นยางนาปลูกตรงกับหน้าบ้านใด ก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจใส่ทำรั้วล้อมรอบ เพื่อกันวัวควายเข้ามาเหยียบย่ำ และให้หมั่นรดน้ำพรวนดินดายหญ้า ใส่ปุ๋ย สำหรับต้นยางนาที่ไม่ตรงกับหน้าบ้านผู้ใดจะมอบหมายให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงรับผิดชอบ โดยให้หัวหน้าหมู่บ้านนำลูกบ้านมาช่วยกันดูแลรักษา ด้วยเหตุนี้ต้นยางนาจึงเจริญเติบโตได้ดีและสวยงาม


หัวข้อ: Re: ถนนต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน : ถนนสุดสวยแห่งเมืองเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2017, 05:47:50 AM
มีเรื่องเล่าขาน  "ต้นยางนากับต้นขี้เหล็ก"  ในแบบฉบับชาวบ้านว่า เมื่อครั้งโบราณยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่แน่นอนนักระหว่างเชียงใหม่กับลำพูน  เจ้าผู้ครองนครทั้งสองจึงมาตกลงกันว่า  ควรมีการกำหนด  "จุดแดนเมือง"  บนเส้นทางสายเลียบแม่น้ำปิงเก่าสายนี้ให้เป็นกิจจะลักษณะ  เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาแก่ลูกหลานในวันข้างหน้า

โดยมีเงื่อนไขว่า  ให้ต่างฝ่ายต่างใช้วิธีปลูก  "ไม้หมายเมือง"  พันธุ์ที่คัดสรรไว้เป็นอย่างดี  ทิ้งช่วงเป็นระยะๆ   เริ่มจากเขตประชิดเมืองของตนก่อนแล้วค่อยๆ  กินแดนกลางมาเรื่อยๆ  จนกว่าจะมาบรรจบกัน  ฝ่ายไหนปลูกต้นไม้ได้ไกลมากแค่ไหนก็จะได้เขตแดนเมืองมากเท่านั้น

ครั้นถึงกำหนดวันนัดหมาย  เจ้าผู้ครองนครทั้งสองต่างออกจากประตูเมืองของตนพร้อมกันเมื่อได้ยินเสียงพระลั่นกลองเพล  ต่างมุ่งหน้านำกล้าไม้ส่งให้เหล่าบริวารลงมือปลูกสองข้างแนวถนน  ฝ่ายเจ้าผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่มีวิสัยทระนงรักความโออ่าสง่าภูมิฐาน  จึงเลือกต้นยางนาเพื่อให้ดูสูงโดดเด่นเป็นศักดิ์เป็นศรี


หัวข้อ: Re: ถนนต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน : ถนนสุดสวยแห่งเมืองเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2017, 05:51:07 AM
ในขณะที่เจ้าผู้ครองนครลำพูนคำนึงถึงปากท้องของประชาชนมากกว่า  จึงเลือกต้นขี้เหล็ก  คือแม้จะไม่สูงสง่าราศี  เพราะขี้เหล็กมีลักษณะเป็นไม้พุ่มแต่ก็ให้ร่มเงาและสามารถเด็ดดอกใบมาต้มแกงประทังชีพได้

ด้วยความที่เชียงใหม่เป็นเมืองเปิด  ติดต่อค้าขายกับผู้คนหลายหลาก  ทำให้เห็นโลกทัศน์ที่กว้างไกลกว่า  เจ้าเมืองเห็นว่าควรเสด็จด้วยกระบวนม้าเพราะต้องทำเวลาแข่งกับลำพูน

ฝ่ายผู้ครองนครลำพูน  ไม่ค่อยคุ้นเคยกับพวกพ่อค้า  จึงค่อยๆ ละเลียดยุรยาตราด้วยกระบวนช้าง  เมื่อทั้งสองฝ่ายลงมือปลูกต้นไม้กินแดนไปเรื่อยๆ  ในที่สุดก็มาบรรจบกันตามข้อตกลง  จึงปักเขตแดนเมือง  ซึ่งยังปรากฏมีศาลเจ้าพ่อ  "แดนเมือง"  ตราบเท่าทุกวันนี้

ผลปรากฏว่า  ฝ่ายเชียงใหม่ซึ่งนั่งม้า  ได้พื้นที่มากกว่าฝ่ายลำพูนที่มัวแต่ขึ้นช้าง  คือต้นยางนาของเชียงใหม่นั้นจากสะพานนวรัฐมาถึงแดนเมืองวัดความยาวถนนได้  15.8  ก.ม.  แต่ลำพูนวัดแนวถนนต้นขี้เหล็กได้เพียง  10.7  ก.ม.  เท่านั้น


หัวข้อ: Re: ถนนต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน : ถนนสุดสวยแห่งเมืองเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2017, 05:52:54 AM
อย่างในภาพ ถ้าสังเกตจะเห็น มีการนำผ้าสบงจีวรสีเหลืองไปพันต้นยางนา  อันนี้ปราชญ์ชาวบ้านได้เสนอแนวคิดเรื่องพิธีสืบชาตาเก๊าไม้ใหญ่  พิธีกรรม"บวชป่า" เป็นสัญลักษณ์ของการขอบิณฑบาตชีวิต  ปลูกฝังความเชื่อเรื่อง  "ขึด"  คือผู้ทำลายต้นไม้ใหญ่เท่ากับทำลายเทวดาอารักษ์ของคนหมู่มาก คนผู้นั้นย่อมสร้างกรรมต่อสาธารณะ

ฝั่งต้นขี้เหล็กของทางลำพูน ค่อนข้างจะเลือนรางในการอนุรักษ์ เพราะเห็นมีแค่เทศบาลตำบลอุโมงค์เพียงองค์กรเดียวที่ดูแล ทั้งๆ ที่จะว่าไปยังมี เทศบาลตำบลเหมืองง่า  ตำบลประตูป่า  จนถึงตำบลในเมือง ด้วย

ในอนาคตก็ได้แต่หวังว่า ถนนสายนี้ ยังคงจะมีต้นยางนา และต้นขี้เหล็กสองข้าทาง ให้ลูกหลานได้ชม ที่ไม่ใช่เหลือแต่ตอไม้ กับซากที่ถูกทิ้งเอาไว้


หัวข้อ: Re: ถนนต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน : ถนนสุดสวยแห่งเมืองเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2017, 05:55:22 AM
หมายเหตุ : ต้นยางนา เป็นต้นไม้สูงถึง 50 เมตร ไม่ผลัดใบ หรือผลัดใบแต่ผลิใบใหม่เร็ว ลำต้นเปลา ตรง เปลือกหนา ค่อนข้างเรียบ สีเทาอบขาว เปลือกในสีน้าตาลอบชมพู โคนต้นมักเป็นพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่ม เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง หูใบ สีเทาอมเหลือง มีขนนุ่ม ใบเดียวรูปไข่หรือรีแกรมรูปขอบขนาน ปลายใบทู่หรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ เล็กน้อยแผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนประปราย ดอกสีชมพู ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใกล้ปลายกิ่ง โคนกลีบเลี้ยงมีครีบตามยาว 5 ครีบ

ต้นยางนามีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่บังกลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมีรายงานว่าพบแถบอันดามันและตอนบนของมาเลเซีย ในประเทศไทยต้นยางนามักพบขึ้นอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำทั่วไปในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในระดับความสูงไม่เกิน 350 เมตร พบน้อยที่ต้นยางนาจะขึ้นในที่สูงเกินกว่าระดับนี้



หัวข้อ: Re: ถนนต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน : ถนนสุดสวยแห่งเมืองเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Dockaturk ที่ กุมภาพันธ์ 27, 2017, 05:56:21 AM
ลำต้นของต้นยางนามีขนาดใหญ่ เปลาตรง แตกกิ่งก้านน้อย  ว่ากันว่าขนาดของต้นยางนาที่ยิ่งมีความสูงเสียดฟ้ามากเพียงใดนั้น  รากของมันก็ยิ่งหยั่งลึกทิ่มแทงลงไปในพื้นดินมากเป็นเงาตามตัว  ในอัตราส่วนหนึ่งเท่าครึ่ง  คือ  1:1.5 เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น  หากต้นยางสูงจากพื้นดิน  20  เมตร  รากที่ชอนไชอยู่ใต้ดินทะลุไปถึงใต้บาดาลนั้น  ก็จะมีความลึกของรากโดยประมาณ  30  เมตร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ต้นยางก็มิอาจทรงตัวให้สมดุลกับความสูงเก้งก้างของตัวเองได้เลย  ซึ่งเป็นข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ 


หัวข้อ: Re: ถนนต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน : ถนนสุดสวยแห่งเมืองเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: parsuk ที่ มีนาคม 02, 2017, 09:56:07 AM
 :onio: