จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2

เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ => วัดในจังหวัดเชียงใหม่ => ข้อความที่เริ่มโดย: konhuleg ที่ มิถุนายน 29, 2015, 04:45:56 AM



หัวข้อ: ตะลอนเที่ยววัดเชียงใหม่ "วัดหนองเหียง"
เริ่มหัวข้อโดย: konhuleg ที่ มิถุนายน 29, 2015, 04:45:56 AM
บ่อยครั้งที่มาเที่ยววัด พระท่านมักจะถามผมว่าถ่ายรูปไปทำไม ส่วนใหญ่ที่คาดเดาคำตอบในใจกันก็จะคิดว่าผมเป็นกรมศิลปากร ฮ่าๆๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว ผมมาถ่ายรูปวัด เพื่อเอาไปรีวิวลงเว็บไซต์ แนะนำในเชิงท่องเที่ยว แนววัฒนธรรม วัดไหนพระท่านใจดีหน่อย ก็มีพาไปตระเวนชมนั้นชมนี้ต่างๆ ในวัด พร้อมกับเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง บางวัดท่านก็เอาน้ำเอาท่ามาให้ดื่ม เป็นสินน้ำใจ พูดคุยกันไปตามประสาพระกับโยม

มาวัดหนองเหียง ใน ต .สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ก็เช่นกันครับ มีโอกาสได้พูดคุยกับพระท่าน ถามไถ่ว่าเป็นใครมาจากไหน พอรู้จักกัน ซึ่งพอพูดคุยกันเสร็จ ก็เลยขออนุญาตท่านเดินตระเวนถ่ายภาพในวัดตามมุมต่างๆ

วัดหนองเหียง เริ่มสร้างเมื่อ 19 มีนาคม 2519 โดยมีพ่อเตา แม่มา ชัยพรหม พ่อมีแม่กวี นันตาหนู ร่วมกับคณะศรัทธา บ้านหนองเหียงถวายที่ดินวันจำนวน 6 ไร่ 45 ตารางวา จากนั้นได้รับอนุมัติสร้างวัด เมื่อ 31 กรกฎาคม 2532 โดยมีทาญาติหลวงชัยคำเป็นผู้ขออนุญาตสร้างวัด กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเป็นวัด เมื่อ 30 พฤษภาคม 2533 และได้รับพระราชทานวิสงความ เมื่อ 29 กันยายน 2541 มีเจ้าอาวาสรูปที่ 1 คือ พระอุ่นเรือน ปิยธมโม

สิ่งที่น่าสนใจ มีวิหารทรงล้านนา ออกแบบแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ภายในวิหารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่พื้นที่ ของพระสงฆ์ ได้แก่ อาสนสงฆ์ และบุษบกธรรมมาสน์ สำหรับอาสนสงฆ์ เป็นที่นั่งพระภิกษุสามเณร มักทำเป็นแท่นยกพื้นอยู่ทางด้านขวามือของพระประธาน ส่วนบุษบกธรรมมาสน์หมายถึงแท่นสำหรับใช้เทศนาของพระภิกษุสงฆ์ในวันสำคัญทางศาสนา พื้นที่ของฆาวาส ได้แก่ห้องโถงส่วนกลางของอาคาร เป็นพื้นที่นั่งของชาวบ้านเพื่อฟังเทศน์ในวันพระ ชาวบ้านจะนั่งกับพื้นซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่า พระสงฆ์ และพระประธาน โดยมักจะให้ผู้ชาย ซึ่งเป็นผู้อาวุโส นั่งด้านหน้าสุดใกล้พระประธาน ส่วน คนผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก จะนั่งถัดออกไป ด้านหลังฐานชุกชี หรือแท่นแก้ว หมายถึงพื้นที่ด้านในสุดของวิหาร มักทำเป็นแท่นยกพื้นสูงกว่าอาสนสงฆ์ ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นประธานของวัด

ส่วนโบสถ์ เป็นอาคารที่พระสงฆ์ใช้ประชุมสังฆกรรมร่วมกัน ซึ่งการทำสังฆกรรมที่สำคัญที่สุดได้แก่การทำสังฆกรรม บวช ในวัฒนธรรมล้านนา แบบอย่างของวิหารและโบสถ์มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่โบสถ์จะมีใบสีมา เป็นเครื่องหมายเขตบริสุทธิ์ล้อมรอบ อาคารที่เป็นตัวโบสถ์อีกชั้นหนึ่ง โดยจะกำหนดบริเวณทิศทั้ง 8 และฝังไว้ตรงกลาง รวมทั้งหมด 9 แห่ง ทั้งนี้ การสร้างวิหารจะนิยมมากกว่าโบสถ์ อาจจะเนื่องมาจากการมีประโยชน์ใช้สอยที่มากกว่า เพราะคติแต่เดิมโบสถ์ใช้ในการประชุมสังฆกรรมเพื่อการอุปสมบทพระสงฆ์ตามที่ บัญญัติไว้ในพระวินัยเป็นสำคัญ

สุดท้าย เจดีย์ทรงปราสาท รูปทรงสี่เหลี่ยมซ้อนชั้น คล้ายรูปทรงปราสาทหรือที่อยู่ของกษัตริย์ เจดีย์รูปทรงนี้เชื่อว่าพัฒนาการมาจากเจดีย์ทรงศิขรของอินเดีย ในช่วงต้นของวัฒนธรรมล้านนา นิยมสร้างเจดีย์ทรงปราสาทที่มีการซ้อนชั้นมีซุ้มประดิษฐานโดยรอบทุกชั้น มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปภายในชั้นเดียว และมีส่วนยอดทำเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กซ้อนชั้นขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์ทรงปราสาทล้านนา