ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
มีนาคม 29, 2024, 08:36:45 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ ปัมพ์โพสต์ตอบแต่ emoticon ต่อเนื่อง เพื่อจะให้กระทู้ตัวเองมาอยู่อันดับต้นๆ ประจำ รับสิทธิ์โดนแบน 90 วันครับ


จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  วัดในจังหวัดเชียงใหม่  |  หัวข้อ: รอบเรื่องสถาปัตยกรรมศาสนสถานแบบล้านนา 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: รอบเรื่องสถาปัตยกรรมศาสนสถานแบบล้านนา  (อ่าน 2831 ครั้ง)
Dockaturk
Hero Member
*****
กระทู้: 811



ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: กรกฎาคม 08, 2016, 08:31:19 PM »


ในวันหยุดที่จะไปเดินเตร็ดเตร่แถวคุ้มบุรีรัตน์ ตรงกลางเวียงเพื่อดูนั้นนี้ไปเรื่อย อย่างตัวอาคารที่มองดูทีไร ก็มีเสน่ห์ไม่มีเบื่อ นอกเหนือจากนี้ ก็อาจจะฟลุ๊คเจอนิทรรศการที่หมุนเวียนเอามาจัดกันแสดงให้ชม

โดยทั่วไปแล้วนั้น นิทรรศการที่จะเอามาหมุนเวียนจัดกันที่นี้ จะเป็นนิทรรศการในเชิงสถาปัตยกรรมกันครับ นั่นหมายความว่า ใครเรียนทางด้านนี้ หรือสนใจทางด้านนี้เป็นการเฉพาะเดิมอยู่แล้ว มาเดินๆ มาดอมๆ มองๆ กัน ถือเป็นการผ่อนคลายได้

ส่วนนิทรรศการอันเดิมที่ไม่ได้หมุนเวียน ซึ่งหมายถึง อยู่กับที่นั้นแหละ ฮ่าๆๆ จะมีอยู่สองส่วนด้วยกัน คือเรื่องราวของคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ และอีกส่วนคือ นิทรรศการความรู้ด้านสถาปัตยกรรมของศาสนสถานของล้านนาโดยเฉพาะ

เรื่องนี้ถือว่ามีความน่าสนใจในตัว เพราะนี้คือการอธิบายถึงลักษณะโครงสร้างหลักต่างๆ ของวิหาร โบสถ์ เจดีย์ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเมื่อดูเสร็จแล้ว ออกไปชมของจริงตามวัดต่างๆ ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ถ้าใครยังไม่มีเวลาไป ภายในนั้นก็จะมีภาพแสดงประกอบบนบอร์ด รวมทั้งโมเดลจำลองของศาสนสถานดังกล่าว

กระนั้น เพื่อความชัดเจนและแจ่มแจ้ง แต่เดิมทีจะถ่ายโมเดลย่อส่วนมาให้ดูประกอบ เลยเปลี่ยนใจเอาภาพของจริงมาประกอบบทความล่ะกัน เพราะมันเห็นได้ชัดเจนกว่า อีกทั้งไอ้เราก็เคยไปวัดต่างๆ เหล่านั้นมาแล้ว การเอาภาพมาใช้ประกอบ มันก็คงจะเข้าทางดีกว่าให้คนอ่านได้ดูแต่โมเดลย่อส่วนเฉยๆ

กล่าวกันถึงศาสนสถานสำคัญในล้านนา ที่จะว่ากัน มี 3 ส่วนด้วยกันหลักๆ ที่จะพูดถึง ซึ่งก็คือ วิหาร โบสถ์ และเจดีย์ ก่อนจะปิดท้ายด้วย เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเสริมเป็นการเพิ่มเติม เพื่อความสมบูรณ์กัน

ขอเริ่มกันด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ ในส่วนของเจดีย์ทางล้านนานั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บพระอัฎฐิธาตุของพระพุทธเจ้า สาวก หรือพระอรหันต์ มักสร้างเป็นประธานของวัดควบคู่กับพระวิหาร วางอยู่ในแนวแกนเดียวกับพระวิหาร ชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่านอกจากเจดีย์จะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าและเป็น ศูนย์ของจักรวาลแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แทนวิถีแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอีกด้วย โดยอุปมาว่าส่วนฐานของเจดีย์เปรียบเสมือน ภาวะแห่งกิเลสตัณหาของมนุษย์ เรียกว่ากามภูมิ คือภูมิที่จิตใจมนุษย์นั้นยังหยาบกระด้าง ยังคงมีการเวียนว่ายตายเกิด ส่วนองค์ระฆังเรียกว่า รูปภูมิ หมายถึงจิตมนุษย์ ที่บริสุทธิ์ และส่วนยอดคือ อรูปภูมิ ภูมิ หรือจิตที่ละเอียดอ่อน ซึ่งไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอันหมายถึง พระนิพพาน ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนานั่นเอง โดยมีความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิด(พระเจดีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของนักษัตร มี 12 องค์ ผนวกไว้ด้วยในแนวคิดเดียวกัน


* index_9.jpg (239.88 KB, 800x533 - ดู 360 ครั้ง.)

* index_12.jpg (244.22 KB, 800x531 - ดู 348 ครั้ง.)

* 10256845_1029930190368791_692565309013665590888868_o_6.jpg (453.34 KB, 800x533 - ดู 348 ครั้ง.)

* 10256845_1029930190368791_692565309013665590888868_o_7.jpg (363.04 KB, 800x533 - ดู 381 ครั้ง.)

* 10256845_1029930190368791_692565309013665590888868_o_5.jpg (131.96 KB, 800x531 - ดู 374 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 08, 2016, 09:06:55 PM โดย ironear7 » บันทึกการเข้า
Dockaturk
Hero Member
*****
กระทู้: 811



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 08, 2016, 08:31:37 PM »


ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ล้านนา ถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ ใหญ่ๆ คือ เจดีย์ทรงปราสาท หมายถึงเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยม ซ้อนชั้น คล้ายรูปทรงปราสาทหรือที่อยู่ของกษัตริย์ เจดีย์รูปทรงนี้เชื่อว่าพัฒนาการมาจากเจดีย์ทรงศิขรของอินเดีย ในช่วงต้นของวัฒนธรรมล้านนา นิยมสร้างเจดีย์ทรงปราสาทที่มีการซ้อนชั้นมีซุ้มประดิษฐานโดยรอบทุกชั้น ตัวอย่างเช่นเจดีย์เหลี่ยมที่วัดจามเทวี และเจดีย์เหลี่ยมที่วัดพระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน เป็นต้น ต่อมาจึงพัฒนาการเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีเรือนธาตุและมีซุ้มประดิษฐานพระ พุทธรูปภายในชั้นเดียว และมีส่วนยอดทำเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กซ้อนชั้นขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์ทรงปราสาทล้านนา

ลักษณะของเจดีย์ทรงปราสาท ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนฐาน ส่วนเรือนฐาน และส่วนยอด สำหรับส่วนฐานนั้นทำเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับกับเจดีย์ทรงกลม เรียกว่าฐานเขียง และมักทำซ้อนชั้น 2-3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุรูปทรงสี่เหลี่ยม มีช่องเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งมักจำลองเอาส่วนยอดของเจดีย์ทรงกลมมาใช้ในลักษณะ เดียวกัน

ชาวล้านนามักเรียกว่า ธาตุ หรือ กู่ เหตุที่เรียกเนื่องจากส่วนใหญ่แล้วนิยมใช้บรรจุอัฐิธาตุทั้งสิ้น และคำว่า กู่ นั้น เข้าใจว่าเป็นคำที่มาจากภาษาพม่า เจดีย์ในศิลปะล้านนาที่สำคัญมีอยู่ด้วยกันสองแบบคือ เจดีย์ทรงระฆัง และ เจดีย์ทรงปราสาท แต่ยังมี เจดีย์แบบอื่น ที่แตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน

ส่วน เจดีย์ทรงระฆัง เหตุที่เรียกว่าทรงระฆังนั้นเพราะองค์ประกอบสำคัญของเจดีย์แบบนี้คือ องค์ระฆัง ซึ่งต้นกำเนิดนั้นคงมาจากรูปโดมครึ่งวงกลมของสถูปในประเทศอินเดียที่เรียก ว่า อัณฑะ หรือ ครรภะ ที่มีความหมายถึงศูนย์กลางจักรวาล ลักษณะของอัณฑะรูปครึ่งวงกลมนั้นเมื่อแพร่กระจายไปในดินแดนต่างๆ ก็มีพัฒนาการต่างกันไป เจดีย์ทรงระฆังของล้านนาอาจแยกได้ 3 กลุ่มคือ เจดีย์ทรงระฆังกลุ่มที่ 1 เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกาที่ผ่านจากศิลปะพม่าแบบพุกามแล้ว พัฒนาไปเป็น รูปแบบของเจดีย์พื้นเมือง เจดีย์ทรงระฆังกลุ่มที่ 2 เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกาที่ผ่านจากศิลปะสุโขทัยเข้าสู่ล้านนาแล้วพัฒนา ต่อเนื่องสืบมา และเจดีย์ทรงระฆังกลุ่มที่ 3 เป็นรูปแบบที่รับอิทธิพลจากศิลปะพม่ารุ่นหลังราวพุทธศตวรรษที่ 24 ลงมา เป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ในศิลปพม่ารุ่นหลังราวปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ลงมา

จากเจดีย์มาที่ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์และวิหาร โบสถ์ คือ อาคารที่พระสงฆ์ใช้ประชุมสังฆกรรมร่วมกัน ซึ่งการทำสังฆกรรมที่สำคัญที่สุดได้แก่การทำสังฆกรรม บวช ในวัฒนธรรมล้านนา แบบอย่างของวิหารรและโบสถ์มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่โบสถ์จะมีใบสีมา เป็นเครื่องหมายเขตบริสุทธิ์ล้อมรอบ อาคารที่เป็นตัวโบสถ์อีกชั้นหนึ่ง โดยจะกำหนดบริเวณทิศทั้ง 8 และฝังไว้ตรงกลาง รวมทั้งหมด 9 แห่ง การสร้างวิหารจะนิยมมากกว่าโบสถ์ อาจจะ เนื่องมาจากการมีประโยชน์ใช้สอยที่มากกว่า เพราะคติแต่เดิมโบสถ์ใช้ในการประชุมสังฆกรรมเพื่อการอุปสมบทพระสงฆ์ตามที่ บัญญัติไว้ในพระวินัยเป็น สำคัญ นอกจากนี้ก็จะมีการรับกฐิน การสวดปาติโมกข์ประจำทุก ๆ 15 ค่ำ ส่วนพิธีอื่น ๆ ที่เป็นประเพณีประจำปีมักจะกระทำในวิหาร อีกทั้งยังใช้เป็นที่อ ยู่อาศัยของสงฆ์ เป็นศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ประชุมพุทธบริษัทต่างๆ รวมถึงคติการบวชดังที่เราจะพบอยู่บ่อยครั้งในตำนานทางภาคเหนือ จะนิยมบวชโดยใช้สมมุติสีมาน้ำที่เรียกว่า นทีสีมา หรือ อุทกสีมา ตามประเพณีที่ได้รับมาจากลังกา


* 55555555649148_2.jpg (210.7 KB, 800x533 - ดู 351 ครั้ง.)

* 55555555649148_3.jpg (203.63 KB, 800x533 - ดู 380 ครั้ง.)

* 55555555649148_4.jpg (171.83 KB, 800x531 - ดู 373 ครั้ง.)

* 55555555649148_5.jpg (63.13 KB, 531x800 - ดู 349 ครั้ง.)

* 55555555649148_1.jpg (212.2 KB, 800x533 - ดู 351 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 08, 2016, 09:08:03 PM โดย ironear7 » บันทึกการเข้า
Dockaturk
Hero Member
*****
กระทู้: 811



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 08, 2016, 08:32:00 PM »


ส่วนลักษณะงานสถาปัตยกรรมประเภท วิหาร คำว่า วิหาร ในครั้งพุทธกาลหมายถึงที่อยู่ของสงฆ์ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่ากุฏิ ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปริพนิพานและมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นตัวแทน พระพุทธองค์ ในอดีตวิหารล้านนามีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญดังนี้คือ เป็น ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งเป็นประธานของวัด หรือพุทธรูปสำคัญอื่นๆ อันเปรียบเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับเป็นประธานในการประชุมกิจของสงฆ์ หรือพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ เป็น สถานที่ประชุมเพื่อกิจของสงฆ์

สำหรับรูปแบบวิหารในวัฒนธรรมล้านนา เราพบหลักฐานว่ามีการสร้างใน 2 ลักษณะ ได้แก่ วิหารโถง และวิหารปิด ซึ่งแม้ว่าวิหารทั้งสองประเภทจะมีความแตกต่างกันบ้างทางด้านรูปแบบ แต่ลักษณะการจัดแผนผังของอาคาร รูปทรงและโครงสร้างของวิหารทั้งสองประเภทมีความคล้ายคลึงกันจนอาจกล่าวได้ ว่าเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนา กล่าวคือ จะออกแบบแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ภายในวิหารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ พื้นที่ ของพระสงฆ์ ได้แก่ อาสนสงฆ์ และบุษบกธรรมมาสน์ สำหรับอาสนสงฆ์ เป็นที่นั่งพระภิกษุสามเณร มักทำเป็นแท่นยกพื้นอยู่ทางด้านขวามือของพระประธาน ส่วนบุษบกธรรมมาสน์หมายถึงแท่นสำหรับใช้เทศนาของพระภิกษุสงฆ์ในวันสำคัญทางศาสนา

พื้นที่ของฆาวาส ได้แก่ห้องโถงส่วนกลางของอาคาร เป็นพื้นที่นั่งของชาวบ้านเพื่อฟังเทศน์ในวันพระ ชาวบ้านจะนั่งกับพื้นซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่า พระสงฆ์ และพระประธาน โดยมักจะให้ผู้ชาย ซึ่งเป็นผู้อาวุโส นั่งด้านหน้าสุดใกล้พระประธาน ส่วน คนผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก จะนั่งถัดออกไป ด้านหลัง

ฐานชุกชี หรือแท่นแก้ว หมายถึงพื้นที่ด้านในสุดของวิหาร มักทำเป็นแท่นยกพื้นสูงกว่าอาสนสงฆ์ ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นประธานของวัด พื้นที่บริเวณนี้ วิหารบางหลังอาจทำเป็นอุโมงค์โขงและเจดีย์ทรงปราสาทต่อท้ายจรนัมอยู่ด้าน หลัง ซึ่งภายในอุโมงค์โขงดังกล่าวเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธาน ของวิหารเช่นเดียวกัน นักวิชาการบางท่านเรียกวิหารประเภทนี้ว่า วิหารทรงปราสาท เนื่องจากหากมองจากภายนอก จะคล้ายกับมีเจดีย์ทรงปราสาทเชื่อมต่อท้ายตัวอาคาร ตัวอย่างเช่น วิหารวัดปราสาท จ.เชียงใหม่ และวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

ส่วนองค์ประกอบของโครงสร้างวิหารล้านนา นิยมสร้างด้วยเครื่องไม้ใช้ระบบเสาและคานในการรับน้ำหนัก โครงสร้างที่ถ่ายทอดน้ำหนักนี้เรียกว่า ระบบขื่อม้าต่างไหม ซึ่งปรากฏชื่อนี้ในเอกสารตั้งแต่รัชกาลพญามังรายคราวสร้างวิหารวัดกานโถม เวียงกุมกาม การเรียกชื่อขื่อม้าต่างไหมได้ชื่อมาจากลักษณะการบรรทุกของบนหลังม้าไปขายบน เส้นทางของพ่อค้าม้าต่างในล้านนา เครื่องไม้ที่ใช้ในระบบขื่อม้าต่างไหมนี้มี แปอ้าย แปยี่ เสาสะโก๋น กล๋อนลาด กั้นฝ้า ขื่อหลวง ขื่อยี่ เป็นต้น

ผนังอาคาร วัสดุที่ใช้สร้างมีทั้งก่ออิฐถือปูนหรือเป็นฝาผนังไม้ ผนังวิหารมักเจาะช่องหน้าต่างซึ่งมีทั้งแบบบานเปิดธรรมดา แบบฝาไหล หรือแบบซี่ลูกมะหวด แต่ถ้าเป็นช่องรูปกากบาดด้านท้ายวิหารจะเรียกว่า ช่องตีนกา หรือ ปล่องจงกล  และเครื่องประดับของวิหารล้านนา มีทั้งส่วนที่ใช้ประดับเชิงคติทางศาสนา ส่วนที่ประดับเพื่อความงาม และบางส่วนก็ผูกพันอยู่กับโครงสร้าง

ทั้งนี้ ทั้งนั้น ถ้าอยากได้ความสาระความรู้แน่นขึ้น แนะนำให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วแวะไปชมศาสนสถานของจริงกันถึงที่เลยครับ รับรองได้รับสาระและความเพลิดเพลินแน่


* 586824575_2.jpg (428.92 KB, 800x533 - ดู 375 ครั้ง.)

* 586824575_1.jpg (544.34 KB, 800x533 - ดู 354 ครั้ง.)

* 586824575_3.jpg (401.25 KB, 800x533 - ดู 358 ครั้ง.)

* 586824575_4.jpg (189.84 KB, 800x533 - ดู 414 ครั้ง.)

* 586824575_5.jpg (281.18 KB, 800x531 - ดู 397 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 08, 2016, 09:08:49 PM โดย ironear7 » บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ขึ้นบน พิมพ์ 
จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  วัดในจังหวัดเชียงใหม่  |  หัวข้อ: รอบเรื่องสถาปัตยกรรมศาสนสถานแบบล้านนา « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 20 คำสั่ง